มั่นใจมากกว่า หัวอกคนเป็นพ่อเป็นแม่ย่อมรักลูกดั่งดวงใจ ไม่ว่าครอบครัวเหล่านั้นจะอยู่ในบริบทที่แตกต่างกันอย่างไร แต่ลูกก็ยังเป็นสิ่งที่พิเศษที่สุดสำหรับคำว่า “ครอบครัว” แต่หลาย ๆ ครั้ง ความรักที่มากมายอาจทำให้บางครอบครัวออกแบบวิธีเลี้ยงลูกผิด โดยหารู้ไม่ว่า วิธีที่ผิด ๆ เหล่านั้น อาจสร้างความเสี่ยงให้ชีวิตลูกของท่านได้ในอนาคต ดังนั้นเราต้องรีบตั้งหลักวางแผนการเลี้ยงลูกกันให้ถูกทิศ เพื่อทำให้ชีวิตของลูกถูกทาง วันนี้จึงขอนำข้อมูลที่น่าสนใจของ หมอเดว หรือ รศ.นพ. สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น และผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม ซึ่งท่านได้กล่าวถึงรูปแบบครอบครัวที่เลี้ยงลูกผิดวิธี ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็ก เรามาส่องดูกันก่อนดีกว่าว่า แต่ละรูปแบบมีอะไรบ้าง
9 รูปแบบครอบครัวเลี้ยงลูกผิดวิธี
พ่อแม่รักและดูแลลูกจนเข้มงวด คอยติดตามกำกับและปกป้องลูกมากเกินไป โดยที่ลูกไม่ต้องรับผิดชอบอะไร เช่น ลูกเล่นของเล่น พ่อแม่เก็บ ลูกทำการบ้านไม่ได้-พ่อแม่ทำแทน จนเด็กขาดความรับผิดชอบ ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้น คือทำให้เด็กมีปัญหา 2 แบบ คือ แบบที่ 1 เด็กขาดความมั่นใจ ไม่เคยได้ลองทำเอง รับผิดชอบด้วยตัวเอง และแบบที่ 2 เด็กกร่าง (มีพฤติกรรมก้าวร้าว ใหญ่คับฟ้า) เพราะรู้ว่าถ้ามีปัญหาอะไรจะมีพ่อแม่มาคอยคุ้มครองจัดการปัญหาให้ ซึ่งมักไม่ค่อยเกิดกับเด็กที่มีฐานะยากจน แต่มักเกิดกับเด็กที่ครอบครัวมีรายได้ปานกลางถึงสูง หรือครอบครัวที่ตามไปปกป้องลูกมากเกินไป จนขาดความรับผิดชอบชั่วดี
ครอบครัวที่พ่อแม่ไม่มีเวลา ใช้วิธีเลี้ยงแบบตามใจ ซื้อหาของมาให้ลูกทุกอย่าง เด็กมีของเล่นเยอะ จนไม่รู้จะเล่นอะไร เด็กจึงเทของเล่นทั้งหมดจากตะกร้า ไม่มีคนคอยดูแล อยากเล่นอะไรก็เล่น เมื่อถึงเวลาเลิกเล่นก็ไม่เก็บ วินัยจึงไม่มี ผลที่ตามมาคือ เด็กไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ตนเองได้ มีลักษณะเอาแต่ใจ อยากได้อยากมี ทำให้เห็นถึงการบริโภคนิยมและทุนนิยม อยากเล่น อยากกินอะไรก็ได้กินอะไรก็เล่น แต่ไม่เห็นคุณค่าของสิ่งของนั้น ๆ เพราะได้มาง่ายจนเกินไป ซึ่งมักเกิดในครอบครัวที่ฟุ้งเฟ้อจนเกินไป
เมื่อครอบครัวมีการเปลี่ยนสถานที่ในการเลี้ยงลูกบ่อย ๆ โดยมีหลายบ้านที่ใช้ดูแลลูก จนเด็กไม่สามารถสร้างความรู้สึกผูกพันมั่นคงกับสถานที่และผู้คนได้เลย เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยเกินไป เมื่อเด็กไม่รู้สึกผูกพัน หรือร่วมทุกข์ร่วมสุขกันในครอบครัว จะทำให้เด็กไม่รักถิ่นฐานของตนเอง อาจทำให้เด็กไม่ไว้วางใจสิ่งแวดล้อมทั้งสถานที่และผู้คน และไม่รักชุมชน ส่งผลต่อการไม่รักรากเหง้าของตนเองอีกด้วย
ครอบครัวที่กังวลเรื่องสุขภาพของลูกมากเกินไป เล่นอันนั้นก็ไม่ดี กินอันนี้ก็ไม่ได้ ทำอย่างนั้นอันตราย ทำแบบนี้ก็ห้าม บางครั้งเกินความจำเป็นทางการแพทย์ จนอาจทำให้ผลตรงกันข้าม คือ เด็กป่วยง่าย ร่างกายไม่แข็งแรงหรือ เด็กย้ำคิดย้ำทำ วิตกกังวล การแก้ไขต้องแก้ที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองเด็กเสียก่อน
พ่อแม่ที่ผลักดันลูกเกินไป พบได้บ่อยในละคร ต้องอ่านออกเขียนได้ก่อนเข้าอนุบาล ต้องวาดรูปได้ ว่ายน้ำเป็น กีฬาดี วิชาการเลิศ พยายามส่งเสริมให้ลูกเรียนกวดวิชามากเกินไป คาดหวังกดดัน จนเกิดภาวะตึงเครียดในบ้าน ซึ่งหากพ่อแม่เร่งรัดผลักดันลูกมากเกินไป กดดันจนทำให้ลูกกลายเป็นเด็กที่ต่อต้าน ปฏิเสธพ่อแม่ ซึ่งสุดท้ายจะทำให้ความสัมพันธ์ของพ่อแม่ลูกเกิดการ Crack (ร้าว) กัน
การเลี้ยงแบบสำลักความรัก จะทำให้เด็กกลายเป็นเด็กที่ถูกตามใจมากจนเกินไป (Spoiled Child) เด็กกลุ่มนี้จะทำอะไรไม่ค่อยเป็น มีบุคลิกที่เงอะ ๆ งะ ๆ ขาดความคิดสร้างสรรค์ เพราะถูกพ่อแม่ตามใจจนเคยตัว เช่น เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกมีผลการเรียนตก พ่อจะไปขอดูตารางการสอนของครู แล้วก็ขออนุญาตเข้าไปสังเกตการณ์ว่า ครูสอนอย่างไร ซึ่งจะเห็นได้ว่าครอบครัวที่สำลักความรักจนเกินไป ล้วนแล้วแต่มีปัญหาทั้งสิ้น
พ่อแม่กลุ่มนี้ เลี้ยงตัวติดลูกเกินไป คอยจับตาติดตามกำกับลูก เหมือนเป็นเงาตามตัว ลูกจะทำอะไรที่ไหนอย่างไรกับใครพ่อแม่ต้องรู้ ทั้งตอนที่อยู่ที่บ้านและนอกบ้าน แม้จะมีห้องส่วนตัว สามารถเข้าห้องลูกเมื่อไรก็ได้ คอยดูว่าเด็กทำอะไร สนทนากับใคร เป็นการรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวภายในบ้าน ทำให้ลูกเกิดความเครียด เพราะไม่มีพื้นที่ส่วนตัว
พ่อแม่ตีกรอบให้ลูกทำในสิ่งที่พ่อแม่คิดว่าดีหรือ ครอบครัวที่มีความกังวล บางรายยอมให้ลูกติดเกมและเล่นอยู่ในบ้าน ไม่เปิดโอกาสให้เด็กเจอโลกภายนอก จนทำให้เด็กเป็นเด็กขี้กลัว เพราะไม่มั่นใจว่านอกบ้านจะมีความปลอดภัยและไว้ใจได้หรือไม่ จึงให้อยู่แต่ในบ้าน ทำให้เด็กขี้กลัวหวาดระแวง เพราะเด็กไม่รู้ว่าอันนี้ทำแล้วจะโดนว่าโดนดุไหม ทำให้เด็กขาดประสบการณ์ ขาดความสัมพันธ์กับสังคม อาจหวาดระแวงกับสิ่งแวดล้อมได้ และทำให้เด็กขาดความมั่นใจในตนเอง
ครอบครัวที่เลี้ยงลูกแบบอิสระ ไม่มีขอบเขตไม่มีวินัย ไม่มีกฎเกณฑ์ อยากทำอะไรก็คิดถึงแต่ตัวเองไม่สนใจคนอื่น และอาจขาด Sense of Property หรือไม่เข้าใจสิทธิและหน้าที่ของตน เป็นคนไม่เคารพกติกา อาจทำให้เด็กไม่สามารถอยู่ในสังคมได้ อาจเป็นเด็กสร้างปัญหาให้สังคม มีปัญหาที่ไม่มีใครอยากยุ่งด้วย ลักษณะเช่นนี้ สามารถทำให้ลูกเป็นคนขี้ขโมยได้ แม้ว่าครอบครัวจะมีฐานะดีก็ตาม
การเลี้ยงลูกในสไตล์ 9 รูปแบบนี้ มีความสุ่มเสี่ยงที่จะทำร้ายลูกมากกว่าสร้างพัฒนาการให้ลูก
ลองสำรวจครอบครัวของตัวเองกันนะคะ ว่าเรากำลังทำอะไรที่สุ่มเสี่ยงต่อชีวิตของลูกน้อยหรือไม่
รีบปรับรีบเปลี่ยนกันตั้งแต่ที่เด็ก ๆ ยังอยู่ในวัยเยาว์ เพื่อให้พวกเขาได้รับการเลี้ยงดูที่ดีที่สุด ปลอดภัยที่สุด จากคนที่รักพวกเขา...มากที่สุด
Aunty
ที่มาบทความ
9 รูปแบบ ครอบครัวเลี้ยงลูกผิดวิธี https://www.facebook.com/Moral.Innovation/posts/pfbid0L6U1mxTweBEsxwR5mzhMmjNPjhpjV91H5dncZWnXYANHBwxfVySpYLq3HuToEnzSl
9 รูปแบบครอบครัว เลี้ยงลูกผิดวิธี https://www.mindboosterclub.com/9-types-of-parents-causing-children-problems/